วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พระกรค้อน พระเกศ

   ชายคนหนึ่งเป็นคนต่างจังหวัด  พาภรรยาเข้ากรุงเทพฯ  ไม่รู้จะทำอะไรดี  จึงทดลองไปซื้อปลามาขายในตลาดสดแห่งหนึ่ง  แต่ภรรยาของเขาเป็นคนพูดไม่เพราะ  จึงขายปลาไม่ค่อยได้



  วันหนึ่ง  สามีซึ่งนั่งอยู่ใกล้ ๆ  กับภรรยา  ได้พูดกับภรรยาของเขาว่า

   "นี่เธอ  การเป็นแม่ค้านะ  ต้องพูดจาให้ไพเราะ  อ่อนหวาน  ใช้ภาษาสุภาพ   คนเขาถึงจะมาซื้อ  รู้มั้ย"

   "รู้แล้วจ๊ะ  ต่อไปฉันจะพยายามพูดให้ไพเราะที่สุดเลยตามที่เธอสั่ง"  ภรรยารับคำแล้ว  ก็เริ่มร้องขายปลาทันที  เมื่อเห็นมีคนเดินผ่านมา

   "ซื้อปลาฉันมั้ยจ๊ะ   ที่ประชวรร่อแร่ก็มี  ที่สวรรคตไปแล้วก็มี"

   ฝ่ายสามีได้ยินดังนั้น  ก็ให้รู้สึกหมั่นไส้ภรรยาของตนขึ้นมาทันทีว่า  ดัดจริตพูดเกินไป   เขาจึงแขกศรีษะเมียไปหนึ่งโป๊ก  ส่วนภรรยานั้นก็รู้สึกเจ็บศรีษะ   จึงเอามือกุมศรีษะแล้วร้องไห้

   พอดี  มีคนเดินผ่านมาจะซื้อปลา  เห็นแม่ค้่านั่งเอามือกุมศรีษะแล้วร้องไห้   ก็ถามว่า
   "นี่แม่ค้า  ทำไมมานั่งเอามือกุมศรีษะร้องไห้อยู่เล่า  เป็นอะไรไปหรือ"
   "ฉันโดนพระกรค้อนพระเกศ น้ำพระเนตรจึงไหลนองนะซิ"

   ข้อคิด  การใช้ภาษาพูดควรใช้ให้เหมาะแก่กาลเทศะ

พ่อใครเก่งกว่ากัน

   ลูกนายพราน   ลูกนายพล  (ทหาร)  และลูกครู  ต่างก็คุยกันว่าพ่อใครเก่งกว่ากัน  โดยลูกนายพรานคุยก่อนเลยว่า
   "พ่อข้านี่เก่ง  ยิงธนูไปแล้ว  สามารถวิ่งตามไำปจับลูกธนูได้ทัน"

   ลูกนายพลได้ยินดังนั้น   จึงคุยข่มทันที  โดยบอกว่า

   "พ่อข้านี่เก่งกว่า  คือยิงปืนไปแล้่ว   สามารถวิ่งถือเป้าไปยืนคอยรับลูกปืนได้ทัน"

   ลูกครูได้ยินลูกนายพราน   และลูกนายพลคุยถึงพ่อตนดังนั้น  จึงพูดขึ้นว่า
   "พ่อแกทั้งสองคนสู้พ่อข้าไม่ได้หลอก  เพราะว่าโรงเรียนเลิกบ่ายสามโมงครึ่ง  แต่พอกลับมาถึงบ้านตั้งแต่บ่ายโมงแน่ะ"




  ข้อคิด  เด็กมักพูดความจริงตามประสาเด็ก

คนว่ะคน


ชายสองคนเป็นเพื่อนรักกันมาก  ทำมาหากินอยู่ด้วยกัน  ปลูกบ้านอยู่ริมแม่น้ำ 
คนหนึ่งชื่อจักรพันธุ์  อีกคนหนึ่งชื่อวัชรพงศ์  วันหนึ่งจักรพันธุ์ออกไปทอดแหหาปลา  โดยพายเรือไปตามแม่น้ำแห่งหนึ่งทอดไปทอดมา  เกิดไปได้ผู้หญิงสาวสวยมาคนหนึ่ง  จักรพันธุ์ก็พาหญิงคนนั้นลงเรือมาที่บ้านด้วย

เมื่อพายเรือจวนจะมาถึงที่บ้านแล้ว  ด้วยความดีใจที่ไปทอดแหหาปลากลับได้สัตว์สองเท้ามา  แถมเป็นคนสวยเสียด้วย  จักรพันธุ์จึงร้องตะโกนบอกวัชรพงศ์ว่า
“วัชรพงศ์โว้ย ! ฉันกลับมาแล้ว  คน  คนว่ะคน”
ฝ่ายวัชรพงศ์ซึ่งกำลังหุงข้าวอยู่  และหม้อข้าวกำลังเดือดพอดี
“คน  คนว่ะคน”  ก็คิดว่าจักรพันธุ์คงเห็นหม้อข้าวกำลังเดือดอยู่  จึงบอกให้คน  วัชรพงศ์จึงคนหม้อข้าวใหญ่เลย

พอพายเรือใกล้เข้ามาอีกกำลังจะจอด  จักรพันธุ์ก็ตะโกนซ้ำ ๆ กันว่า
“คน คนว่ะคน”  วัชรพงศ์ก็คนหม้อข้าวตามเสียงร้องของเพื่อน  คนไปคนมาจนหม้อข้าวกระดอนตดลงมาจากเตา  ข้าวหกหมดเลย
เมื่อจอดเรือแล้วจักรพันธุ์ก็พาหญิงสาวขึ้นไปบนบ้าน  แล้วก็บอกกับวัชรพงศ์ว่า  “นี่ไง  ที่ฉันตะโกนมาเมื่อกี้นี้ว่า  คน  คนว่ะคน”
“เอ้า  ฉันเข้าใจผิดคิดว่าเพื่อนบอกให้คนหม้อข้าว”  วัชรพงศ์พูดพร้อมกับก้มหน้าก้มตาเก็บกวาดข้าวที่หกอยู่  แล้วจัดการตั้งหม้อข้าวใหม่ต่อไป
ข้อคิด  การฟังอะไรนั้น  ควรฟังให้ตลอดเสียก่อน  ว่าอะไรเป็นอะไร  อย่าฟังครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วนำไปปฏิบัติ  เพราะอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้  เข้าทำนองที่ว่า  “ฟังไม่  ศัพท์จับเอามากระเดียด”  นั่นเอง

นึกว่าง่าย


คนไทยกับคนลาวเป็นเพื่อนกัน  คนไทยมีเรืออยู่ลำหนึ่ง  วันหนึ่งเกิดน้ำท่วม  คนลาวนั่งไปกับเรือของคนไทย  โดยคนลาวนั่งอยู่หัวเรือ  คนไทยนั่งอยู่ท้ายเรือ  และเป็นคนพายเรือไป
เมื่อพายเรือไปได้สักพักหนึ่ง  เรือก็รี่ตรงไปจะชนต้นไม้  คนลาวตกใจกลัวบอกว่า
 “ซ้ายหน่อย ๆ”คนไทยก็พายงัดเล้กน้อย  เรือก็ไม่ชนต้นไม้  พายรอดไปได้

เมื่อพายเรือต่อไป  เรือก็รี่ตรงไปจะชนบ้าน  คนลาวเห็นดังนั้นก็ตกใจร้องบอกว่า  “ขวาหน่อย ๆ”  คนไทยก็พายงัดเล็กน้อย  เรือก็รอดไปได้โดยไม่ชนบ้าน
เจ้าคนลาวเลยเกิดสงสัย  จึงถามเจ้าคนไทยว่า  “นี่เรือของแกทำด้วยอะไรนะ  ถึงว่าง่ายอย่างนี้”
“ทำด้วยไม้ตะเคียนนะซิ”  คนไทยตอบ

คนลาวเมื่อกลับถึงบ้านก็บอกกับเมียว่า  “นี่น้องไม้ตะเคียนนี่ว่าง่ายจัง  พี่อยากจะขุดเรือจากไม้ตะเคียนสักลำ  ที่ข้างบ้านเรามีไม้ตะเคียนอยู่ต้นหนึ่ง  เดี๋ยวพี่จะโค่นมาขุดทำเรือนะ”
เมียก็บอกว่า  “มันจะทับบ้านพังนะพี่”
“ไม่ทับหรอก  ไม้ตะเคียนมันว่าง่ายจะตาย”  ฝ่ายผัวอธิบายสรรพคุณของต้นตะเคียน
ว่าคนลาวก็คว้าขวานไปฟันต้นตะเคียนทันที  ฟันไปๆ จวนจะขาดมันก็ค่อย ๆ เอนลงจะทับบ้าน  คนลาวก็ยืนโบกมือร้องตะโกนไปว่า  “ซ้ายหน่อย ๆ”  ต้นตะเคียนก็ล้มโครมลงทับหลังคาบ้านพังไปเรียบร้อย  เจ้าคนลาว  ก็คิด

บ่นในใจว่า  “เอ๊!  ต้นตะเคียนบ้านเรานี่  มันทำไมถึงดื้อจัง  ไม่เหมือนต้นตะเคียนของคนไทยเลย  ว่าง่ายแท้ ๆ
ข้อคิด  การเข้าใจอะไรที่ไม่ถูกต้อง  หรือการหลงเชื่อในสิ่งที่ผิด ๆ จะนำมาซึ่งความหายนะ  ฉะนั้นก่อนที่จะเชื่อสิ่งใดควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบครอบโดยใช้เหตุผล

เที่ยงยังไม่บ่าย




มีชายคนหนึ่งพร้อมกับเพื่อน  ไปนั่งรอรถไฟที่สถานี  รถจะมาถึงเวลาบ่ายโมง  ชายคนนั้นก็บอกให้เพื่อนไปดูนาฬิกาที่ตั้งอยู่ในบริเวณสถานีว่าบ่ายโมงหรือยัง
เพื่อนก็วิ่งไปดู  แล้วก็กลับมาบอกว่า  “เที่ยง  ยังไม่บ่าย”  ก็มานั่งรอรถกันต่อไป
นั่งรอกันอยู่พักใหญ่  ก็บอกให้เพื่อนวิ่งไปดูนาฬิกาอีกที  ว่าบ่ายโมงหรือยัง
เพื่อนก็วิ่งไปดูอีก  แล้วก็กลับมาบอกว่า  “เที่ยง  ยังไม่บ่าย”  ก็นั่งรอรถกันอีก  จนกระทั่งตะวันคล้อยไปแล้ว  ก็บอกให้เพื่อนวิ่งไปดูนาฬิกาอีกสักที
เพื่อนก็วิ่งไปดู  แล้วก็กลับมาบอกว่า  “เที่ยง  ยังไม่บ่าย”  เหมือนเดิม
ชายคนนั้นก็เกิดความสงสัย  จึงพูดกับเพื่อนว่า  “ไหนนาฬิกาที่เอ็งวิ่งไปดูมันอยู่ตรงไหน”
เพื่อนก็พาไปดู  พร้อมกับชี้บอกว่า  “นี่ไงล่ะ”

ชายคนนั้นหัวเราะไม่ออก  จึงพูดออกมาว่า  “โธ่เอ๋ย นั่นมันเครื่องชั่งน้ำหนักต่างหาก  ไม่ใช่นาฬิกา  เอ็งเข้าใจผิดไปแล้ว”

ข้อคิด  การใช้คนโง่เขลาเบาปัญญาไปทำสิ่งใด  อาจทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้  ฉะนั้นพึงระมัดระวังในการใช้คน

นักเลงพระ


นักเลงพระสองคนเป็นเพื่อนกัน  คนหนึ่งชื่อเปล่ง  คนหนึ่งชื่อปลั่ง  ทั้งสองคนเมื่อเจอกันครั้งใดก็ตามจะพูดคุยกันแต่เรื่องพระเท่านั้น
วันหนึ่ง  หลังจากที่ทั้งสองคนเลิกดื่มสุราที่ร้านค้าแห่งหนึ่ง  ก็ชวนกันเดินทางกลับบ้าน  ในขณะที่เดินมาตามทางนั้นเอง  ทั้งสองคนก็พบสิ่งหนึ่งเข้ากลางทาง  ทั้งสองคนต่างก็จ้องมองดูตากัน  เฒ่าเปล่งก็เอ๋ยขึ้นก่อนว่า

“เฮ้ยปลั่ง  นี่มันนางพญานี่หว่า  รุ่นแรกซะด้วย  อ้ายรุ่นหลังเนื้อมันละเอียดกว่านี้”

เฒ่าปลั่งได้ยินดังนั้นก็ขมวดคิ้วเข้าหากัน  แล้วตอบไปว่า
“โธ่เปล่ง  แกนะมันรู้ไม่จริง  นี่เขาเรียกว่าขุนแผนแหกด่าน  เนื้ออย่างนี้ข้าจำได้  ของข้าก็มีเหมือนกัน”
“โธ่ปลั่ง แกนะพูดชุ่ยๆข้าบอกว่านางพญา นางพญา เห็นอยู่เจ๋ง ๆ อย่างนี้ แกน่าจะเชื่อข้าบ้าง”
เฒ่าเปล่งเถียง

“นี่นะขุนแผน  ขุนแผน  แกไม่เชื่อข้า  ขุนแผนแหกด่านรุ่นสอง  รุ่นอกร่องหูยาน  ถ้าลงคาถาอาคมแล้วมันชะงัดนักเชียว  แกเชื่อข้าเถอะน่า”  เฒ่าปลั่งอธิบาย
สองนัดเลงพระเถียงกันอยู่พักใหญ่  ก็พอดีมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินผ่านมาแล้วพูดขึ้นว่า
“ไอ้ที่ลุงเถียงกันอยู่นี่ไม่ใช่พระหรอกลุง  มันเป็นก้อนหินต่างหากเล่าลุง”


ข้อคิด  ผู้ที่มีประสบการณ์หรือความสนใจในเรื่องใด  มักมองสิ่งที่เห็นตามประสบการณ์หรือความสนใจของตนเสมอ

นับ ๑ ถึง ๒๐


พ่อของปิยพงศ์เป็นคนมีธรรมะอยู่ในหัวใจ  วันหนึ่งพ่อได้เรียกปิยพงศ์ไปสอนว่า

“นี่ลูกฟังพ่อบอกนะ  ความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะลูก  เป็นสิ่งที่ทำลายเรา  ฉะนั้นเวลาที่ลูกโกรธให้พยายามระงับจิตใจ  โดยการนับในใจช้า  ๆ  ตั้งแต่  ๑  ถึง  ๒๐  และขณะที่นับอยู่นั้นอย่าเผลอทำอะไรออกไปเป็นอันขาด  จำไว้นะลูก”

“ครับ  ผมจะปฏิบัติที่พ่อสั่งสอนครับ”  ปิยพงศ์รับคำ
เย็นวันหนึ่ง  หลังจากโรงเรียนเลิกแล้ว  ปิยพงศ์ก็กลับบ้านเมื่อมาถึงบ้านพ่อต้องตกใจมาก  เนื่องจากเห็นใบหน้าของลูกบวมปูดไปหมดแสดงว่าถูกชกต่อยมา  พ่อถึงพูดขึ้นว่า
“เอ้าลูก  ทำไมหน้าของลูกจึงบวมปูดไปหมดเล่า”
“ถูกวิฑูรย์ชกมาครับพ่อ”  ปิยพงษ์ตอบพลางก้มหน้า
“เอ้าลูกไม่ได้นับ  ๑  ถึง  ๒๐  ดอกหรือเวลาที่ทะเลาะกันนะ”  พ่อพูดพลางมองดูลูกด้วยความสงสาร
“นับครับพ่อ  แต่ก็เพราะมัวนับ  ๑  ถึง  ๒๐  นะซิครับ  ผมถึงเจ็บตัว”
“ทำไมล่ะลูก”
“ก็เพราะแม่ของวิฑูรย์เขาสอนว่าเวลาโกรธให้นับ  ๑  ถึง  ๑๐  เท่านั้น  พอเขานับเสร็จก็ตรงเข้ามาชกผมทันทีเลย  กว่าผมจะนับถึง  ๒๐  ได้  เขาก็วิ่งหนีไปแล้ว”


ข้อคิด  เรื่องนี้สอนให้เป็นคนมีความอดทนแต่เด็กมักคิดอะไรแปลกๆ ไปตามประสาเด็ก